วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

เป็นมาแต่ใด เป็นใครกันหนอ จับพัดจับพลูมาเป็นวิศวกรดาวเทียม

โดนท่านแม่บังคับแกมขู่เข็ญ ให้เค้นสมองเขียนออกมาว่า ตัวผมไปจับผัดจับพลู ไปทำอีท่าไหนเข้า ถึงได้มาเป็นวิศวกรทำงานเกี่ยวกับอวกาศ สร้างดาวเทียม แบบที่ชาวบ้านเค้าไม่ค่อยจะมาทำกัน ผมว่าตัวแม่เองแกก็คงจะงงๆ เพราะผมเองก็ย้ายไปประเทศนู้นที ประเทศนี้ที แม่ถามว่าทำอะไรก็อธิบายไป แต่แม่ก็คงไม่ค่อยจะเข้าใจหรอกนะ ทั้งวาดรูปทำสไลด์โชว์ แต่แกก็ยังดูมึนๆอยู่ดี  มาดูกันดีกว่าว่าชีวิตผมมันเป็นมายังไงบ้าง

เรื่องเกิดเมื่อปี 2007
ผม : แม่ ขอตังค์หน่อยจะซื้อตั๋วเครื่องบินไปเยอรมัน
แม่ : ไปทำไม ทำอะไรประเทศเยอรมัน
ผม : ไปเรียนแม่ ได้ทุนไปเรียน
แม่ : อ่อเหรอ สมัครไปตั้งแต่เมื่อไหร เรียนอะไรล่ะลูก
ผม : ไปเรียนทำดาวเทียมน่ะแม่
แม่ + พ่อ : ห่ะ เรียนอะไรของเอ็งนะ ดาวเทียมอะไร จบมาจะมีงานทำมั้ยนั่น แล้วไปเมื่อไหร่
ผม : ไม่รู้ดิพ่อ อยากไปลองเรียนดูได้ทุนเรียนด้วยไม่เสียหายอะไร อีกสามเดือนต้องเดินทางแล้ว

ปี 2007-2008 พึ่งเรียนป.ตรีจบใหม่ๆ ก็หาสมัครงานไปเรื่อย จนไปพบกับโฆษณาทุนเล่าเรียนฟรีที่ยุโรป โลโก้เป็นหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารที่นาซ่าส่งไปเมื่อปี 2004 น่าเย้ายวนใจยิงนัก สำหรับวิศวกรจบใหม่ไฟแรง ที่มีประสบการณ์แข่งหุ่นยนต์ระดับประเทศและระดับโลกมา ถึงแม้จะช่วยเค้าแค่นิดหน่อยๆก็เถอะ แต่เจ้าหุ่นยนต์ดีกรีนาซ่าตัวนี้ ถือเป็นหุ่นยนต์ขั้นเทพ ที่ใครๆที่ชื่นชอบหุ่นยนต์ย่อมรู้จักดี ว่าแล้วก็คลิกตามที่เค้าเขียนไปเรื่อย เอกสารทุกอย่างก็มีครบ อยู่ในมือเพราะกำลังหว่านแหสมัครงานอยู่

เงียบไปครึ่งปี งานที่พึ่งเริ่มทำได้สามเดือนก็กำลังจะส่งไปฝรั่งเศสเพราะเรียนรู้ระบบ มีคืนนึงจดหมายส่งมา ว่าได้ทุน ความสนุกก็บังเกิด

เดินทางไปเรียนที่ประเทศเยอรมัน ภาษาเยอรมันก็ไม่รู้ซักตัว ภาษาอังกฤษที่เคยใช้ก็ตอนไป work and travel ตอนเรียนปีสอง งูๆปลาๆ สั่งอาหารกินได้ เรียนที่เยอรมัน 6 เดือน เรียนไปกระอั่กเลือดไป ไม่มีเวลาคิดถึงบ้าน วันธรรมดาคือเรียน เสาร์ อาทิตย์ทำการบ้าน เรียนในห้องไม่รู้เรื่องก็ต้องอ่านเอง วิชาที่ไม่เคยเรียน ในภาษาที่ไม่คุ้นเคย และบ้านเมืองที่แปลกตา จบ 6 เดือนก็ย้ายประเทศ ไปที่สวีเดน เมืองคิรูน่า เหนือสุดประเทศสวีเดน เฉียดเส้น Arctic circle หนาวจับใจ หิมะขาวโพลน อุณหภูมิ -20องศา ไปเรียนวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสิ่งต่างๆในอวกาศ เรียนรู้ธรรมชาติของอวกาศและมันมีผลกระทบอะไรกับดาวเทียมและโลกได้บ้าง เห็นแสงเหนือ นอนโรงแรมน้ำแข็ง กินเนื้อกวางเรนเดียร์ แล้ว 4 เดือนในแดนน้ำแข็งก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพื่อนร่วมชะตากรรม 30 คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน กลายเป็นเหมือนคนในครอบครัว กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน ลอกการบ้านกัน แต่ก็ถึงเวลาต้องจากลา ปีสุดท้ายของหลักสูตรต้องแยกไปตามมหาวิทยาลัย 6 แห่งทั่วยุโรป ตามแต่สาขาที่คิดอยากจะเรียน

เรียนอะไรดีหน่อ ใจก็คิด ชอบอวกาศ ชอบดาวเทียม แต่เอาไปหากินที่บ้านเกิดเมืองไทยไม่ได้แน่ๆ เอาสาขาระบบอัติโนมัติแล้วกัน คล้ายที่เรียนมา งานในไทยก็คงพอจะมี ปักหมุดลงไป ป้ายต่อไปประเทศฟินแลนด์

เข้าเรียนปุ้ปใจชื้น หุ่นยนต์อัติโนมัติเป็นวิชาเลือก คว้าเกรด A มาอย่างง่ายดายทีสิสจบก็ยังไม่วาย ศึกษาหาทางเพิ่มความสมดุลย์ของหุ่นยนต์ในการเดินทางในที่ลาดชัน เผื่ออนาคตจะได้ทำหุ่นยนต์ไปดาวอังคารกับเขาบ้าง

เรียนจบ สมัครงานที่แรกคือนาซ่า ทำได้ทุกอย่างที่เค้าอยากจะให้ทำ ไม่มีอย่างเดียวคือไม่ใช่คนอเมริกัน ไม่เป็นไร องค์การอวกาศยุโรปก็ไม่ใช่ย่อย เราได้ทุนเขามาเค้าน่าจะอยากให้เราทำงานคืนทุน ทำได้ทุกอย่างที่เค้าอยากจะให้ทำเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่คนยุโรปเช่นกัน ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย เราไม่ใช่พลเมืองเขา เก่งดีเด่แค่ไหนก็รับไม่ได้ ไม่ใช่ไม่อยาก แต่เพราะมันเป็นความมั่นคงของประเทศเค้า จรวดยิงไปอวกาศคือขีปนาวุธข้ามทวีป มันคือทหาร มันคือความมั่นคง

หางานที่ไทย หวยออกที่ Seagate บริษัทผลิต Haddisk drive ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ไปช่วยเค้าทำระบบอัติโนมัติอย่างที่เรียนมา ช่วยเค้าเข็นเครื่องจักรผลิตออกมาได้หนึ่งระบบ ครบสองปีหมาดๆ เพื่อนที่เรียนมาด้วยกันที่ฟินแลนด์ ได้งานอยู่ที่มหาลัยในสิงค์โปร์ มาแอบกระซิบ เฮ้ยๆ เค้าพึ่งตั้งโปรแกรมส่งดาวเทียมขนาดเล็กที่นี้ สนใจมั้ย เดี้ยวแนะนำให้เลย กำลังหาคนออกแบบดาวเทียม กับระบบควบคุมอุณหภูมิ ทำไม่เป็นไม่เป็นไร มาเรียนกันที่นี่

ไม่รอช้า แพ้คกระเป๋าไปเมืองลอดช่อง ขุดของเก่าที่เรียนมา ได้เอามาใช้หากินจริงๆก็คราวนี้ ที่เรียนไปกระอั่กเลือดไปทั้งหมด ได้เอามาใช้ พร้อมเรียนรู้เพิ่ม งานไม่ใช่แค่นั่งออกแบบหน้าคอมพิวเตอร์แล้วจบ ยังต้องคำนวณ ประกอบ ทดสอบ ดาวเทียมดวงเดียว ผลิตสามดวง เผื่อพัง เผื่อเหลือ เผือขาด


รูปบนแท่นประกอบ ด้านเซลพลังงานแสงอาทิตย์



ด้านหน้าของดาวเทียม จะเห็นเสสสัญญาณ GPS สี่เหลี่ยม และสลักที่จะเริ่มการทำงานของดาวเทียม เมื่อดึงออก

ดาวเทียมขนาดเล็ก จุดประสงค์หลักคือเป็นดาวเทียมเพื่อการวิจัย เพื่อสอนในเด็กระดับมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ขั้นตอนการออกแบบสร้างและทดลองจริง ที่ว่าขนาดเล็ก เพราะมีขนาด 10 ลูกบาศก์เซนติเมตร หนักประมาณ 1 กิโลกรัมแค่นั้นเอง มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Cubesat มหาลัยชั้นนำในต่างประเทศล้วนมีโปรแกรมนี้ทั้งนั้น ปีหนึ่งปล่อยกันเป็นร้อยดวงก็น่าจะได้ เพราะว่า Cubesat ทุกดวงมีขนาดเท่ากันเป็นมาตรฐาน เวลาส่งก็ส่งพร้อมกันได้หลายดวง โดยติดไปกับดาวเทียมดวงใหญ่ๆ ที่ซื้อพื้นที่จรวดไปแล้วมีที่เหลือ พอจะติดไปด้วยได้ ก็แชร์ค่าส่งกันไปนิดๆหน่อย ค่าส่งก็ถูกลง วิน-วินทั้งคู่ มหาลัยก็ใช้ดาวเทียมขนาดเล็กบบนี้เป็นที่เอาไว้ทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่มีใครกล้าลองกับดาวเทียมขนาดใหญ่ที่มีราคามหาศาล เวลาที่ใช้ก็ประมาณ 1-2 ปีเท่านั้น เทียบกับปกติ 5-10 ปี
ทดสอบการสื่อสาร จากตึกที่สูงที่สุดในสิงค์โปร์ ไปยังสถานีของมหาลัย
สองปีผ่านไปดาวเทียมขนาดเล็กก็พร้อม รอส่งไปรัสเซียเพื่อประกอบเข้ากับจรวดที่จะส่งไปโคจรรอบโลก โปรเจคนี้จบไป พร้อมกับโดนล้อมรอบด้วยเพื่อนๆพี่ๆคนไทยในสิงค์โปร์ที่ต่างก็ไปเรียนปริญญาเอกกันทั้งนั้น ก็เลยคิดว่า เออ เราเองก็น่าจะเรียนเอกเหมือนกันนะ เผื่อจะหางานด้านอวกาศได้ง่ายขึ้้น มหกรรมหว่านแหหางานก็เริ่มต้นอีกครั้ง แต่ต่างกันตรงที่คราวนี้หาที่เรียนป.เอก ไปเจอเวบมหาลัยนึง เค้าเขียนว่า มีตำแหน่งป.เอกว่าง ให้เขียนเมล์มาหาพร้อมส่งประวัติการทำงานมา แล้วจะติดต่อกลับไป ก็จัดใส่พานไปตามระเบียบ มหาลัยเล็กๆไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่ดูผ่านพอมีโปรเจคอวกาศร่วมกับองค์การอวกาศยุโรปบ้าง ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ช่าง ห้านาทีผ่านไป อีเมล์ประหลาดตอบกลับมา แหม ในใจคิด มหาลัยนี้ปฏิเสธไวจังแฮะ โดนปฏิเสธรอบที่สิบได้แล้วมั้ง

เปิดเมล์อ่านดู "เสียใจด้วย เราไม่มีตำแหน่งปริญญาเอกที่เหมาะกับคุณ" นั่นประไร เป็นหวยก็รวยไปแล้ว อ่านต่อไป
"แต่เรามีตำแหน่ง Thermal Engineer ในโปรเจค Exomars ที่น่าจะเหมาะกับคุณ หากสนใจโปรดติดต่อกลับ" ห่ะ!? Exomars ชื่อยังก้องอยู่ในสมอง...Exomars เป็นโครงการขององค์การอวกาศยุโรปที่จะส่งหุ่นยนต์ไปดาวอังคาร คล้ายกับของนาซ่าเมื่อปี 2004

ในใจคิด "ทำ" ให้ทำฟรีก็จะทำ ประเทศไหนก็จะไป ตอบอีเมล์กลับไปแบบมึนๆ งงๆ "Yes, I do want to join the team" ตอนสัมภาษณ์ เงินเดือนไม่เคยถามถึง ถามแต่ว่าจะได้ทำจริงๆเหรอ จะได้ส่งไปดาวอังคารจริงๆใช่มั้ย ปรากฏว่าที่มาลัยได้ทำนั้นเป็นกล้องสำรวจดาวอังคาร เอาไว้ศึกษาพื้นผิว รวมถึงจุดลงจอดที่น่าสนใจสำหรับหุ่นยนต์ที่จะส่งลงไปยังผื้นผิวดาวอังคาร เอาน่ะ ก็ไม่แย่ ลุยเป็นลุย ขอให้ได้ทำ
Exomars Rover กับ ยานอวกาศที่จะส่งมันไปยังพื้นผิวดาวอังคาร
มาถึงที่นี่เรียนใหม่หมดโปรแกรมที่ใช้เป็นโปรแกรมที่องค์การอวกาศยุโรปบังคับใช้ ซึ่งผมไม่เคยใช้มาก่อน มีคนสอนคนนึง เรียนรู้ได้สามเดือนก็เริ่มปล่อยให้ทำเอง ประกอบกับประสบการณ์ที่ผ่านมาจากสิงค์โปร์ก็ทำให้จับทางได้เร็ว หัวหน้าใจดี เราก็ดีใจ ชีวิตคือการเรียนรู้ ทำงานก็เหมือนได้เรียน แถมเค้าดันให้ตังค์ใช้อีกต่างหาก

หน้าที่ของ Thermal Engineer คือทำการจำลองอุณหภูมิของดาวเทียมว่าในขณะที่ทำภารกิจนั้น อุณหภูมิของดาวเทียมเป็นเท่าไหร่ เพราะว่าถ้าเย็น หรือร้อนเกินไป จะทำให้อุปกรณ์ภายในดาวเทียมเสียหายหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ สภาพแวดล้อมในอวกาศที่ไม่มีอะไรมาช่วยระบายความร้อนเหมือนอยู่บนโลก ก็ทำให้ต้องทำการจำลองและทดสอบอย่างละเอียด ถ้าร้อนไปเราใส่ฉนวนกันความร้อนได้ ถ้าเย็นไปเราใส่ฮีทเตอร์เข้าไปได้ ฟังดูง่าย แต่จริงๆแล้ว ทั้งน้ำหนักของฉนวนกันความร้อน และพลังงานของฮีทเตอร์ต่างก็เป็นทรัพยากรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งอวกาศทีอุณหภูมิอยู่ที่ -270องศาเซลเซียส และอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถ้าเกิดเราโดนแสงจากดวงอาทิตย์ส่อง เราก็ต้องศึกษา พูดคุยกันให้ดีระหว่างคนที่วางแผนการเคลื่อนที่ของดาวเทียมว่า อุปกรณ์ขอเราอยู่ด้านไหน จะเห็นดวงอาทิตย์มากน้อยขนาดไหน ระหว่างการเดินทางไปดาวอังคารก็แบ่งย่อยเป็นหลายขั้นตอน ตำแหน่งของดาวเทียมก็ต่างกันไป ระหว่างเดินทางไปดาวอังคารซึ่งใช้เวลา 8 เดือน ก็อย่างหนึ่ง พอใกล้ถึงดาวอังคารเราก็ต้องทำการลดวามเร็วขอยานอวกาศด้วยเทคนิคเฉพาะ ซึ่งต้องอาศัยการวางตัวของยานอวกาศอีกแบบหนึ่งเป็นต้น รวมถึงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหากระบบการทรงตัวขอยานอวกาศผิดพลาด ล้วนแต่ต้องทำการจำลองผลเป็นกรณีแยกกันไป